สาระสำคัญ

Friday, April 17, 2015

คำต่อคำ : รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" วันที่ 17 เมษายน 2558

คำต่อคำ : รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" วันที่ 17 เมษายน 2558
       
       สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน วันสงกรานต์ วันปีใหม่ไทยเพิ่งผ่านพ้นไป หลายคนคงได้มีโอกาสไปเที่ยวพักผ่อน เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพบปะญาติมิตร กราบผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกัน
       
       สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีเรื่องที่น่ายินดีหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวแรงงานประมงไทย 68 คน ที่รัฐได้ช่วยเหลือให้เดินทางกลับประเทศ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2558 ก็ทันวันครอบครัว ช่วงสงกรานต์พอดี คงมีความสุขมาก เพราะว่าหลายปีมาแล้วที่ต้องไปตกระกำลำบากอยู่ต่างประเทศ แล้วทุกคนนั้นรัฐบาลก็จะนำเข้าสู่ระบบการเยียวยาของรัฐ มีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ การมอบความช่วยเหลือกลับภูมิลำเนา และการจัดหาสถานที่พักชั่วคราว หากจำเป็น โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีการร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะติดตามช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง มีหลายคนที่ยังตกระกำลำบากอยู่ ก็คงต้องทยอยช่วยเหลือต่อๆ ไป จนกว่าจะครบถ้วน และจะมุ่งเน้นการป้องกันการถูกล่อลวง ทำลายขบวนการทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ ทั้งผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในอนาคตต่อไปให้ได้ ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัคร ตำรวจ ทหารที่ช่วยกันดูแลความปลอดภัยส่งพี่น้องประชาชน และลูกหลานคนไทยเดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพในห้วงสงกรานต์
       
       ขอขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีสงกรานต์อันงดงามของไทยเรา มีการปฏิบัติตามข้อแนะนำของภาครัฐ ในการร่วมกันแต่งกายตามประเพณี รดน้ำคลายร้อน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น รวมทั้งการโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำไร้แอลกอฮอล์
       
       นานแล้วนะครับ ที่เรารณรงค์แค่การออกนโยบาย แต่ไม่เน้นการปฏิบัติ เราเริ่มเน้นการปฏิบัติให้มากขึ้น การบังคับใช้กติกาสังคมอย่างจริงจัง ในบางครั้งเยาวชนรุ่นใหม่หลงลืมวัฒนธรรมอันดีงาม แล้วกลับไปคุ้นชินกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่อารยธรรมของไทย การสนุกสนานต้องมีขอบเขต มีขีดจำกัดอย่างที่รัฐบาลได้กำหนดข้อแนะนำไป 8 ประการ เห็นมีคนต่อว่าเหมือนกันทำไมต้องไปกำหนดด้วย ผมไม่เห็นว่า 8 ข้อนั้นมันมีผลเสียต่อใครเลย เพียงแต่ว่าไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ให้เกิดการเสื่อมเสียต่อประเพณีของเรา หรือใครคิดว่ามันถูกต้องก็มาบอกรัฐบาลแล้วกัน เช่น ห้ามแต่งกายโป๊ ล่อแหลม ไม่เห็นจะสร้างสรรค์เลย บอกว่าการท่องเที่ยวปีนี้หงอย เพราะมี 8 มาตรการของรัฐมา เลยทำให้ไม่สนุก ถ้าเราทำต่อไป เอกลักษณ์ความเป็นไทยจะไม่หลงเหลืออยู่อีกเลย ให้ภาคภูมิใจ วันนี้ก็มีทั้งชาวต่างชาติเข้ามาประเทศเรา คนไทยมาเที่ยวกันเอง ถ้าต่างชาติเขาต้องการสัมผัสธรรมชาติ ฉะนั้นการต้อนรับขับสู้ ยิ้มสยาม และความมีน้ำใจของคนไทยแล้ว ให้รับทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งเดียวในโลก และเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมาพักผ่อน มาศึกษาความเป็นไทย วัฒนธรรมแบบไทยๆ ซึ่งอาจจะหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว แต่คนไทยอยากจะเป็นอย่างเขา ตัวชี้วัดที่เป็นคุณธรรมพิสูจน์แล้วว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะนี้เพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ อย่าไปเชื่อตัวเลขอื่นๆ แล้วก็เพิ่มขึ้นอีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็ไปดูแล้วกันว่าเขาเอาข้อมูลจากไหน
       
       ถ้าหากว่าเราเลิกขัดแย้งกันเอง เป็นเจ้าบ้านที่ดี มีเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ผู้ที่มาเยือนก็จะรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินระหว่างใช้ชีวิตในเมือง ก็ช่วยกันชักชวนกันกลับมาเที่ยวใหม่อีกครั้ง ปีหน้าเราก็อาจจะมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีของไทย เราจัดการท่องเที่ยวทั้งปี ปีนี้เป็นปีแห่งท่องเที่ยววิถีไทย ช่วยกันเชิญมา ช่วยกันไปเที่ยวด้วยนะ เวลาวันว่างหยุดจากราชการอะไรก็แล้วแต่
       
       ในส่วนของการสร้างจิตสำนึกนั้น คำว่าค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการนั้น จะเป็นสิ่งที่ทำได้เลย ทำทันที ส่วนสิ่งต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ก็คือในเรื่องของการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน ซึ่งวันนี้เรามีความพร้อมที่จะเริ่มการปฏิรูป บ้านเมืองสงบร่มเย็นพอสมควร รัฐบาลมีเอกภาพในการบริหารงานแผ่นดิน สามารถที่จะบูรณาการงานทุกกระทรวงให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และทุกคนจะต้องมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ก็ขอให้พี่น้องทุกคน ทุกภาคส่วน ช่วยกันหยิบยื่นความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ เพื่อใช้โอกาสนี้ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ซึ่งเราเริ่มต้นมาได้แต่เพียงเล็กน้อย ถ้าพูดถึงการบริหารราชการก็ทำได้เยอะ แต่เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปที่ต้องทำใหม่ อะไรเหล่านี้ มันเพียงเริ่มต้นเท่านั้นเอง ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เราต้องเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แล้วก็หลุดพ้นจากคำว่า กับดักทางการเมืองอย่างยั่งยืน
       
       วันนี้ผมมีบุคคลตัวอย่างที่หลายคนอาจจะรู้จักกันดีมานานแล้ว ในนามมนุษย์เพนกวิน เป็นตัวอย่างของการไม่ยอมแพ้ สู้ชีวิต คิดบวก และที่สำคัญคือ การไม่ทำตัวเป็นภาระสังคม แต่กลับช่วยสร้างสรรค์สังคม ประเทศชาติให้งดงาม ในขีดความสามารถและข้อจำกัดของตัวเองนะครับ ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านร่างกายของเขาเอง คนดีที่ผมอยากจะพูดถึงคือ คุณเอกชัย วรรณแก้ว แม้ไร้แขนทั้งสองข้าง แต่เขาก็สามารถที่จะสร้างทางผลงานทางศิลปะได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เขาจบปริญญาตรี คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง จากนั้นก็อาศัยวิชาชีพออกไปวาดรูปตามงานต่างๆ รายได้มาช่วยปลดหนี้ ธ.ก.ส.ให้กับแม่ ปลูกบ้านหลังใหม่ให้ครอบครัว ส่งเสียเงินให้แม่ทุกๆ เดือน
       
       ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณเอกชัยยึดถือ ในการดำรงชีวิตก็คือ โอกาสคนเราไม่เท่ากัน ต้องใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ส่วนการทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ อันได้แก่ ช่วยกันทำคนละนิด พอรวมกันมันก็เยอะไปเอง และทวงถามสำนึกของความเป็นคนไทยว่า มือของพวกคุณทำอะไรให้ประเทศดีขึ้นบ้าง เปรียบเทียบกับตัวเขานะครับ ผมหวังว่า มันจะเป็นคติ สร้างความตระหนักรู้ และเรียกร้องให้พี่น้องทุกท่านกลับมาสำรวจตัวเอง สำรวจความพร้อมของตัวเองว่า วันนี้เราได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อประเทศชาติ หรือส่วนรวมหรือยัง โดยเฉพาะกับผู้ที่ยังหลงผิด ไม่หวังดีเหมือนเดิม คอยบ่อนทำลายสร้างสถานการณ์ ประสงค์ร้าย ป้ายสีทุกเรื่อง เหมือนจะต้องการให้กลับไปสู่ความขัดแย้งไปสู่วังวนเก่าๆ เหมือนที่ผ่านมา ผมไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ขอให้กลับมาใช้ชีวิตด้วยศักยภาพของท่านในทางสร้างสรรค์ดีกว่า พัฒนาปฏิรูปประเทศ ร่วมมือกัน ไม่ใช่ศัตรูกันอยู่แล้ว กฎหมายก็คือกฎหมาย แต่เราเป็นคนไทยด้วยกัน ให้ความร่วมมือกับทางการ ยุติความขัดแย้ง ร่วมมือกันปฏิรูป เดินหน้าประเทศไทย มันต้องมีกติกาถ้าจะปฏิรูปให้ได้ ถ้าท่านไม่ยอมรับกติกาก็ไปไม่ได้อยู่ดี รัฐธรรมนูญจะเขียนมาอย่างไรถ้าไม่ให้ความร่วมมือก็ไปไม่ได้อยู่ดี เพราะประเทศเพื่อนบ้านเขาไม่รอคอยเรา ประชาคมโลกก็มีการพัฒนา ก้าวหน้าไปทุกประเทศ ยกระดับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเรา จะรอเขาอยู่อย่างไร แล้ววันหน้าถ้าเขาแซงเขาก็ไม่รอเราแล้ว เราก็จะเสียทั้งโอกาส เสียตำแหน่งในบทบาทที่สำคัญของเวทีการเมือง เศรษฐกิจโลกอย่างน่าเสียดาย
       
       อีกประการขอขอบคุณกลุ่มมะโน ละเมอ ที่สร้างสรรค์คลิปและนำมาเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ในการสร้างขึ้นมาโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อเตือนคนไทยทุกคนว่า เราสามารถทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นได้ ขอเพียงกันทำคนละนิดในแบบที่ตนเองถนัด
       
       สำหรับในเรื่องความคืบหน้าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเมื่อเช้านี้ 17 เมษายนนี้ มีการสรุปผลงานของรัฐบาลในช่วง 6 เดือน ต่อจาก 3 เดือนแรก ตามแนวทางนโยบายในการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลประกาศไว้ 11 ด้าน ได้แถลงไปแล้ว กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 โจทย์ที่สำคัญของประเทศ และรัฐบาลคือ การสร้างความรักความสามัคคี ปรองดองกับคนในชาติให้ได้ และแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไม่ได้มีการสร้างความเข้มแข็งไว้เพียงพอ ยังไม่มีความพร้อม ไม่มีมาตรการลดความเสี่ยงต่างๆ มาเป็นเวลาเกือบสิบกว่าปีแล้ว ทำให้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกนั้นมีผลกระทบกับเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างมาก หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เราไม่เตรียมการไว้ ก็คงยังทำแบบเดิมมาตลอด วันนี้ต้องแก้ไขทั้งหมด
       
       คสช.และรัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็ทำให้เศรษฐกิจที่ปีที่แล้วมันติดลบอยู่ อย่าลืม ตัวเลขติดลบ ไม่ใช่เอาตัวเลขปีที่ไม่มีเหตุการณ์มาเทียบ ไม่ได้ เรารับมายังติดลบอยู่ จาก 22 พฤษภาคม แล้ววันนี้เศรษฐกิจโลกมันก็แย่ลง แต่วันนี้ตัวเลขก็ดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 57 (ต.ค.-ธ.ค.57) เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.3 เดิมเราตั้งไว้แค่ 2 ก็เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.57) ขยายตัวร้อยละ 0.6 เอง แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
       
       ในด้านเสถียรภาพของทางด้านเศรษฐกิจใน 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.58) ทั้งดุลการค้าและบริการของประเทศยังคงเกินดุลอยู่ ประเทศเรายังมีดุลการชำระเงินที่เกินดุล ซึ่งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทอยู่บ้าง แต่ทางแบงก์ชาติก็ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ก็มีมาตรการรองรับไว้ตลอดเวลา
       
       ในด้านเสถียรภาพภาคการคลัง รัฐบาลยังคงมีการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าปีที่แล้ว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ จัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 973,952 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.5 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหา มีผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจเอสเอ็มอี เหล่านี้ รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ หาทางทุกอย่างไม่ได้หยุดคิดเลย ว่าจะทำยังไงราคาสินค้าทางการเกษตรที่มันตกต่ำ จะทำยังไง การค้าขายภายนอก คือ ปริมาณมากกว่าเก่า แต่ราคาน้อยกว่าเก่า มันเป็นประเด็นนะ ก็พยายามหาทางว่าทำยังไง จะใช้ในประเทศได้มั้ย มีตลาดชุมชนบ้างได้มั้ย แล้วก็เอาไปสู่การแปรรูปได้มั้ย กำลังทำอยู่ มันต้องใช้เวลา ตั้งโรงงานอย่างต่ำก็อย่างน้อย 1-2 ปี หรือ 3 ปี ก็จะทยอยมาตามลำดับ
       
       เราก็ได้เร่งรัดจัดเตรียมมาตรการต่างๆ บางอย่างก็ทำไปแล้ว ผลักดันเร่งรัดผ่านโครงการต่างๆ ให้เกิดการหมุนเวียนของเงินลงสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ช่วยกันดำเนินการก่อสร้างถนนหนทางในพื้นที่ชนบท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำให้มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตร กระทรวงการคลังดูแลเรื่องการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งตอนนี้ขาดสภาพคล่อง ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อันนี้ต้องดูแลธุรกิจขนาดเล็กด้วย พวกการค้าปลีกอะไรต่างๆ ก็มีความเดือดร้อน กำลังจะให้เชิญธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐมาดูจะช่วยเหลือกันอย่างไร
       
       อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมในการที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีกฎกติกาใหม่ เพื่อจะจัดทำกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศด้วย และได้รับการยอมรับว่า เราจะต้องปฏิรูปหรือไม่อย่างไร ถ้าประชาชนวันนี้คิดว่า วันนี้เราดีอยู่แล้ว ผมก็ลำบากใจ ผมคิดว่าปัญหามันมีเยอะ ถ้าคนมาอยู่อย่างที่ผมอยู่ จะรู้ว่ามันเยอะขนาดไหน ไม่ใช่ข้อแก้ตัว พยายามทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้หยุดเลย ก็ยังทำได้เท่านี้
       
       เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า เราจะแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เดี๋ยวประชาชนก็จะได้รับผลประโยชน์ที่เท่าเทียมเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้วยเหล่านี้ มันกำลังเดินมาถูกทางที่ให้เราได้มีโอกาสทำงานตรงนี้ แต่จะต้องดูว่าจะร่วมมือกันต่อไปอย่างไร แก้ไขอย่างไร โรดแมปที่ว่ามันเป็นอย่างไร มันจะปฏิรูปได้หรือไม่ สำหรับการวางรากฐานที่มั่นคงในทุกมิติ
       
       6 เดือนที่ผ่านมานั้น รัฐบาลดำเนินการไปแล้วเบื้องต้น แล้วพร้อมที่จะส่งต่อรัฐบาลต่อๆ ไป ถ้ามันสามารถได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และยอมรับในกติกาเรื่องการปฏิรูป เราก็จะสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศได้คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในทุกระดับ
       
       สัปดาห์นี้ขอชี้แจงความคืบหน้าบางประการให้พี่น้องทราบดังนี้ ด้านเกษตรกรรม อันนี้สำคัญระดับต้นๆ ของเรา ประเทศของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ปัญหาคือ เกษตรกรมีรายได้น้อย ราคาผลผลิตตกต่ำ ขาดความรู้เรื่องตลาด น้ำแล้ง ขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง รัฐบาลได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร และบูรณาการทุกหน่วยงานให้เป็นแนวทางอันเดียวกัน อาทิเช่น การโซนนิ่งพืชผล สัตว์ ก็ต้องมีการนำร่องนะครับ ประมงก็ต้องมีระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ด้วย ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง หรือจะหาอาชีพเสริมอะไรก็แล้วแต่ ได้แก่ การนำ MRCF System มาใช้ได้แก่ M-Mapping คือที่เรียกว่า ระบบแผนที่และฐานข้อมูล ในการบริหารจัดการพื้นที่ทั่วประเทศ
       
       รวมทั้งการ R-Remote Sensing คือการเข้าถึงข้อมูลระยะไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างบุคลากรภาครัฐ-เกษตรกร และC-Community Participation การมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้จำนวน 882 ศูนย์ เป็นของชุมชนเอง และมีนักส่งเสริมการเกษตรเข้าไปจัดกระบวนการเรียนรู้มีเกษตรกรต้นแบบ มีสินค้าจริง มีแปลงสาธิต และF-Specific Field Service มีจุดเน้นเฉพาะ ไม่ไร้ทิศทาง สร้างโอท็อปให้เข้มแข็ง ต้องเลือกกันมานะครับว่า จะทำอะไร ทำแล้วมันขายได้ ทำแล้วมีลูกค้า ถ้าทำแล้วไม่มีลูกค้าก็เปล่าประโยชน์ เสียเวลา
       
       เรื่องต่อไปคือ การจัดกิจกรรม Business Matching เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว สินค้าท้องถิ่น สินค้าโอท็อป และจัดให้มีตลาดชุมชนกว่า 8 พันแห่งทั่วประเทศในปัจจุบัน เพื่อลดกลไกพ่อค้าคนกลาง สร้างทักษะความรู้การตลาดให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการรวมกลุ่ม ตั้งสหกรณ์การเกษตร เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และกำหนดราคาสินค้าในตลาดเองได้
       
       อันนี้เราต้องทำควบคู่ไปกับในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ตามยุทธศาสตร์ 10 ปี คือ ทำทุกปี ทำไปเรื่อยๆ จะไปจบในปี 2569 ก็เป็นตามงบประมาณที่มีอยู่ เราจะมองปัญหาน้ำทั้งระบบ จะเข้าไปดำเนินการแบบบูรณาการทุกกระทรวง เพื่อยุติปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมามันไม่ต่อเนื่อง ไม่มันเป็นพื้นที่ ไม่เชื่อมโยง มันก็ไม่จบกันซักที วันนี้เราจะทำให้มันจบ ขนาดนี้ยัง 69 เลย งบประมาณเราก็จำกัดนะครับ
       
       ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำภาคการผลิต น้ำอุปโภค-บริโภค การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยมันต้องทั้ง 3 งานให้ได้ พร้อมกันนะครับ และปัญหาคุณภาพน้ำจากแหล่งกำเนิด 22 ลุ่มน้ำ และน้ำที่จะต้องเตรียมการสำหรับผลักดันน้ำทะเลหนุน ด้วย 5 เขื่อนหลัก กับ 4 ลุ่มน้ำภาคกลาง การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และป้องกันการพังทลายของดิน รวมทั้งระบบโทรมาตร และศูนย์ระบบป้องกันภัยน้ำท่วม โดยคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในสิ้นปี 58 นี้ เช่น 1. น้ำเพื่อการผลิต ได้แก่ การปรับปรุงระบบชลประทานเดิม 35,000 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 1.6 ล้านไร่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำและทางน้ำธรรมชาติ 2,000 กว่าแห่ง สระน้ำในไร่นา 50,000 บ่อ รวมทั้งสระน้ำชุมชน และระบบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกว่า 1,500 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ เป็นต้น
       
       2. น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้แก่ ประปาหมู่บ้าน 2,310 หมู่บ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาชนบท 683 แห่ง จัดหาน้ำดื่ม น้ำบาดาล ให้โรงเรียนและชุมชน 700 แห่ง
       
       โดยแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบนี้ ได้รับความชื่นชมจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งที่แล้วมีการจัดวันน้ำโลก ก็จัดที่ประเทศไทยส่วนหนึ่ง เขาเห็นว่าเราเสนอแผนนี้ออกไป เขาพอใจ เพราะเขาเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การเข้าถึงแหล่งน้ำของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งหลายประเทศในโลกนี้ยังเข้าไม่ถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เหมือนกัน ของเราเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็อยากให้เราเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง ในการเตรียมความพร้อม และป้องกันสภาวะการขาดแคลนแหล่งน้ำของโลกในอนาคตได้ ถ้าเราไม่มีน้ำมาจากหิมะ มาจากน้ำแข็ง เราก็ลำบาก เราต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำได้ ประชาชนคนไทยก็จะไม่เดือดร้อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเป็นห่วงอยู่แล้ว พูดมาหลายปี รับสั่งมาหลายปีกับเราแล้ว ว่าเราจะมีปัญหาเรื่องน้ำในอนาคต คนมากขึ้น การเพาะปลูกถ้ายังทำแบบนี้อยู่ มันใช้น้ำมาก ต้องแก้ทั้งหมด ทั้งใช้ที่ให้น้อย ใช้น้ำให้น้อย ได้ผลผลิตมาก สูง อะไรทำนองนี้ ต้องทำให้ครบ ในเรื่องนี้ เรื่องการเกษตรสำคัญที่สุด คือเรื่องของการลดต้นทุน อันนี้ผมสั่งการไปแล้วชัดเจนว่าต้องทำให้ได้ในปีการผลิตนี้ โดยเริ่มจากสหกรณ์ที่เข้มแข็งก่อน สหกรณ์ต้องเข้าไปดูแล ผมอาจจะจัดเครื่องไม้เครื่องมือให้สหกรณ์ที่เข้มแข็งอยู่แล้วในวันนี้ ไปรวมกลุ่มมา แล้วทั้งเมล็ดพันธุ์ ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องจักเครื่องมืออะไรต่างๆ รวมความไม่ถึงโรงสีขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมความไปถึงโรงอบข้าวอะไรทำนองนี้ เพราะไม่งั้นมันไปอยู่กับโรงสีใหญ่ๆ หมด เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยตัวเอง สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ให้ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนกรุณาไปขึ้นบัญชีสหกรณ์ให้ได้ เราจะได้ดูแลตามลำดับความเร่งด่วนไป ถ้าเอาพร้อมกันทั้งหมดผมไม่มีสตางค์ให้อยู่แล้ว ตังค์ไม่พออยู่แล้วที่จะให้แบบเดิม ไม่ได้แล้ว
       
       เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน และมีการเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างเท่าเทียม
       
       ในด้านระบบโครงสร้างคมนาคมพื้นฐาน การสัญจรของคนในเมือง ระหว่างเมือง ขนส่งสินค้า ผลผลิตทางการเกษตร และโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม จากแหล่งผลิตสู่เมืองหลวง เมืองสำคัญ เมืองท่า หรือเมืองการค้าชายแดน และเพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงเมืองสำคัญของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง 7 ปี (2558-2565) ก็ทำเป็นรายปีไป อันไหนผูกพันได้ก็ผูกพัน อันไหนมีเงินพอ ก็ทำให้จบ อะไรทำนองนี้ มีการร่วมทุนกัน ทั้งจีทูจี กับต่างประเทศ และอาจจะลงทุนร่วมกันกับภาคเอกชนของเราเองด้วย
       
       ก็ขอเรียนว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดภายในปี 58 นี้ มีอะไรบ้าง 1. การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง จะมีการส่งมอบรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV 489 คันแรก จากจำนวนทั้งหมด 3,183 คัน ในเดือนกรกฎาคม 2558 2. มอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ บางปะอิน-นครราชสีมา 196 กิโลเมตร บางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กิโลเมตร และพัทยา-มาบตาพุด อีก 32 กิโลเมตร ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมสำรวจออกแบบเส้นทางเพื่อจะลงมือก่อสร้างโดยทันที ให้พร้อมใช้งานในปี 2562
       
       3.รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 เส้นทาง 464 กิโลเมตร โดยสายสีน้ำเงินตะวันออก เปิดให้บริการแล้วสายสีม่วงเหนือจะเปิดบริการในปีหน้า สายสีน้ำเงินตะวันตก และสายสีเขียวใต้ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จตามกำหนดทั้งหมด พร้อมใช้งานในปี 2563 ส่วนสายที่เหลืออีก 6สาย จะอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน ตามกฎหมาย จนแล้วเสร็จในปี 2563 ทั้งหมด 4 โครงข่ายรถไฟทางคู่ระหว่างเมือง 6 เส้นทาง 903 กิโลเมตร ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย 106 กิโลเมตร เส้นทางมาบกะเบา - ถนนจิระ 132 กิโลเมตร เส้นทางถนนจิระ - ขอนแก่น 185 กิโลเมตร เส้นทางลพบุรี - ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร เส้นทางประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร 167 กิโลเมตร เส้นทางนครปฐม - หัวหิน 165 กิโลเมตร ทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 โดยประมาณ และจะแล้วเสร็จในปี 2561
       
       5 ระบบขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้ 2 แสนคนต่อวัน และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้ มีการยกระดับท่าเทียบเรือทั้ง 19 แห่ง ให้เป็นสถานีเรือ นอกจากนี้ยังมีหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล อันนี้ขอความกรุณาว่าอย่าขัดแย้งกันมากเลย เราพยายามที่จะดูแลผู้ได้รับผลกระทบเยียวยาให้สบายใจ ถ้าเราไม่สร้างตรงนี้ก็เป็นปัญหาอีก ประตูการค้าฝั่งอันดามันเราจะไม่มี และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ไม่ได้
       
       ต่อไปคือโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 ทั้งนี้เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคนต่อปี และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างไทย - จีน ไทย - ญี่ปุ่น ผมได้เรียนให้ทราบเป็นระยะแล้ว โครงการเหล่านี้ทั้งหมด เป็นเหมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของเรา ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้
       
       ต้องบอกประชาชนให้ทราบไว้ก่อน ไม่ใช่บอกที่หลัง จะทำอะไรต้องบอกก่อน และมั่นใจว่าถ้าทำสำเร็จก็เป็นสิ่งที่ดี ถ้าไปบอกทีหลังก็เหมือนงุบงิบทำไม่ใช่ ก็บอกมาตลอด ขอให้เข้าใจด้วย เราจะต้องยกฐานะทางด้านการแข่งขันของเราให้เป็นศูนย์กลางการใช้ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคในเวทีโลกให้ได้
       
       เรื่องของการจัดตั้งศูนย์บริการด้านธุรกิจ One Stop Service นั้น เราได้พลิกโฉมการให้บริการภาครัฐที่เคยเป็นอุปสรรควงจรธุรกิจต่างๆ การจ่ายเงินใต้โต๊ะเจ้าหน้าที่บางส่วนต้องไม่ให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด เราจะเปิดให้บริการข้อมูล อำนวยความสะดวก มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แก่ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ในหลายช่องทาง ขอเรียนอีกทีว่าตรงนี้หลายท่านยังบอกว่า ไม่รู้อะไรที่ไหนอย่างไร ได้ยินแต่พูด แต่ไม่รู้จะไปไหน นี่พูดให้ฟังแล้ว
       
       และอีกอัน ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุนโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจและด้านการลงทุนมากกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมบริการให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการธุรกิจ จะเป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขออนุมัติ ขออนุญาตต่างๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนการจดทะเบียนนิติบุคคล การขออนุญาตประกอบธุรกิจคนต่างด้าว จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอยู่
       
       2.ศูนย์บริการต่อวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน ให้บริการต่ออายุวีซ่า การขออนุญาตทำงานขยายเวลา ใบอนุญาตในการทำงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแรงงาน ผู้ให้บริการ
       
       3.เรื่องของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนในภูมิภาค 6 แห่ง ต่างจังหวัดก็มี 6 แห่ง ที่เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี จะให้บริการข้อมูลรับคำร้องและพิจารณาอนุมัติตามที่ได้รับมอบอำนาจที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด
       
       นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้นในการแจ้งผลงานของรัฐบาลและ คสช.โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายดีอย่างดียิ่ง ก็จะเป็นการเริ่มต้นในการวางรากฐานของประเทศที่ดี ที่มั่นคงในทุกมิติ ขอขอบคุณในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หวังว่าจะได้รับการสานต่อจากทุกๆรัฐบาลต่อไป โดยพี่น้องคนไทยทุกคน ข้าราชการทุกท่าน ต้องช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของชาติเพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ต่างๆสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วย
       
       อีกเรื่องอยากจะคุยกับพวกเราไม่ได้ไปติเตียนใคร มีคนเขียนมาในสื่อหนังสือพิมพ์ ผมก็อ่านก็เข้าท่าดี ไม่รู้จะเห็นเป็นอย่างไร เขาบอกว่านิสัยที่ไม่ดีของคนไทยก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่มันดีอยู่แล้ว ดีมากกว่าไม่ดี ไม่เช่นนั้นก็เราคงเป็นประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ไม่ได้ ส่วนที่ไม่ดี สำคัญหรือเปล่าไม่รู้ เดี๋ยวท่านลองฟังดูนะ
       
       1.ไม่ชอบศึกษาอะไรที่ละเอียด ที่มีปลีกย่อยมากๆ คือไม่คิด และเร่งรีบวิจารณ์ไปก่อน เช่น พูดเรื่องภาษีก็โวยมาก่อนว่าเก็บเงินอีกแล้ว ไม่ดูว่ามันดีหรือไม่ดี จำเป็นกับประเทศหรือเปล่า ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร พอเห็นพาดหัวข่าวจากสื่อที่เลือกข้างอะไรบ้าง หรือหัวเว็บไซต์ต่างๆ ก็ด่ารัฐบาล ด่าคนคิดบ้าง คือยังไม่รู้เลยว่าเขาจะทำเพื่ออะไร บางทีก็มีวาทกรรม
       
       2.เรื่องนักการเมืองที่เป็นนักเลือกตั้ง คนดีๆเยอะ แต่บางคนก็ยังใช้วิธีการเดิมๆ อยู่ วันๆก็ตั้งหน้าตั้งตารอว่า ใครจะพาดตรงไหน จะเก็บคะแนนได้ตรงไหน และฉวยโอกาสโจมตีทุกคนที่พลาด ไม่ว่าจะนักการเมืองด้วยกัน รัฐบาลหรือใครก็แล้วแต่ที่ตั้งใจจะมาทำความดีก็ด่าไปหมด ใช้วาทกรรมเจ็บๆ วันนี้รัฐบาลกำลังจะพยายามทำเพื่อคนจน ก็มาหาว่ารัฐบาลแกล้งคนจน ไม่มีจะกินอยู่แล้ว เอาแต่ขูดรีดเก็บภาษี ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าไปเก็บตรงไหน ถ้าเราต้องการให้ประเทศก้าวหน้าต้องปฏิรูปคน 2 พวกก่อน นิสัยไม่ดี คือนิสัยไม่ศึกษาอะไรให้ละเอียด แล้วตำหนิติเตียน อันที่ 2 คือไม่นึกถึงสังคมส่วนรวม สังคมไทยตกอยู่ในสังคมวาทกรรม เชือดเฉือนด้วยถ้อยคำมากกว่าให้โอกาสพิสูจน์การทำงาน ประเทศต้องการเงิน งบประมาณไปทำให้ประชาชนเติมในสิ่งที่ขาด สร้างความเข้มแข็ง ทำไงคนยากจนไม่เหลื่อมล้ำ เป็นธรรม อะไรเหล่านี้ ไม่ให้เดือดร้อน ก็กลับไปพูดในวาทกรรมว่า ก็อุตส่าห์หาเงินซื้อบ้านมาแทบตาย ยังมาเก็บภาษีบ้านเราอีก ไอ้อย่างนี้มันใช่หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แล้วรู้หรือยังว่าที่เขาพูดๆ กันออกมา เป็นการเสนอให้คิด แล้วพูดให้รู้หรือยังว่าเก็บจากใคร เก็บเท่าไร เก็บเมื่อไรก็ยังไม่รู้เลย ก็ว่าไปเสียก่อน เพราะตัวเองไม่ได้ดูตัวเองนะ อะไรที่เสียก็ไม่ยอมทั้งสิ้น ก็ไปสร้างวาทกรรมผิดๆ ออกมา แล้วก็ติไว้ แล้วประเทศชาติจะไปทางไหน สร้างแนวร่วมว่าไปก่อน
       
       รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องการความร่วมมือในการแก้ปัญหา ท่านอย่าไปสร้างความเข้าใจผิด ไม่คำนึงถึงผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชน เรื่องภาษี ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของส่วนรวมของประเทศ คนไทยหลายคนไม่ชอบอยู่แล้วล่ะ ภาษีน่ะ แต่เมื่อถามดูว่าเทียบกับรถยนต์คันแรก จำนำข้าว แต่ละคนได้ประโยชน์ ส่วนหนึ่งเสียประโยชน์ วันนี้ไม่เห็นมีใครพูดถึง ชื่นชมด้วยซ้ำไปว่าทำดี เพื่อประชาชน มันเสียไปเท่าไหร่ ไปดูซิ อันตรายนะครับนักการเมืองเหล่านี้ ก็พยายามจะทำไปสร้างความนิยมส่วนตัว และของพรรคการเมืองอะไรก็แล้วแต่ โดยการใช้วาทกรรม ผมว่าเลิกซะทีนะ การใช้วาทกรรมที่ฟังแล้วมันแปลกๆ ไม่รู้จะทำอะไร มีหลายคนพูดแล้วว่าต้องทำยังไงให้คนจนอยู่กับเราให้ได้ อันที่ 2 ทำยังไงจะให้สื่อมาอยู่กับเราให้ได้ มีคนพูดเรื่องนี้อยู่นะ ซึ่งผมไม่ได้ใช้แบบนั้น เพราะฉะนั้นอย่าไปสร้างวาทกรรม คนจนจะได้ลืมตาอ้าปากซะที ให้ราคาข้าว ราคาผลิตผลเกษตรสูงๆ เข้าไว้ ให้ไปผ่อนรถคันแรก คืนภาษีให้ เหล่านี้ บางคนก็บอกว่าจะไม่ให้คนจนมีโอกาสเลยหรือไง ไม่มีโอกาสที่จะขับรถเลยหรือไง แล้วมันขับได้มั้ยล่ะ ผ่อนเขาไหวมั้ย ยังไม่สร้างรายได้ให้เขาเลย แล้วจะให้เขาซื้อก่อนยังไง ดีมานด์กับซัพพลายมันก็ไม่มีทางเทียมทั้งหมด ขยายงบประมาณไปเยอะแยะแล้ววันนี้ขายได้น้อยลงเขาบอกว่าเป็นความผิดของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ขยายสมัยใครก็ไม่รู้ ไปหามา ขยายเพราะไอ้รถคันแรก คนเขาซื้อกันเยอะ ซื้อกันเยอะก็ต้องขยายโรงงาน พอวันนี้ไม่มีสตางค์ซื้อ ต้องเอาคืนกันหมด ยึดคืนกันหมด แล้วทำไงล่ะ เสียเงินไปแล้ว รายละแสน ก็เท่าไหร่ล่ะ ก็โอเคล่ะ เขาบอกว่ากลับไปให้ประชาชน ผมถามเถอะ มันกลับไปคืนประชาชนเท่าไหร่ ไปเช็กเอา
       
       เพราะฉะนั้นไม่มีระบบใดที่จะสร้างความปรองดองในประเทศได้ ไม่มีระบบการปกครองใดทำให้ประเทศเจริญได้ หากคนในชาติยังไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตน แนวคิดในทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ก็คือต้องศึกษารายละเอียดให้มากขึ้น ฟัง ฟังก่อนพูด คิดก่อนทำ และต้องคำนึงถึงส่วนรวมมาก่อนส่วนตน และสิ่งใดที่เป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศ ก็ไม่สมควรทำ และรัฐบาลจะจับตาดูบุคคลเหล่านี้ว่าเขาทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องดูกัน เพราะฉะนั้นประชาชนช่วยกันดูด้วยนะ ช่วยกันพิสูจน์ข้อเท็จจริงซิว่าที่เขาพูดมามันจริงหรือไม่ และที่ผมพูดมามันจริงหรือไม่ แล้วไปดูซิว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตรงไหนบ้าง อันไหนเกิดก่อน อันไหนเกิดหลัง อันไหนเกิดระยะยาว มันเกิดพร้อมกันไม่ได้หรอก เพราะว่ามันหมักหมมมายาวนาน เพราะฉะนั้นเราจะทำเรื่องนี้ให้จริงจัง สำเร็จ เพื่อประชาชน ประเทศชาติ ตามครรลองที่จะเกิดขึ้น ต้องช่วยกันนะครับ รัฐบาล ข้าราชการ ประชาชน และคำว่าสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ เคารพกฎหมาย ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม เป็นสิ่งสำคัญประกอบกันทั้งหมด
       
       อันดับต่อไปผมจะเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ มาพูดคุยทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
       
       ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
       
       สวัสดีครับท่านผู้ชม ผมขอเวลาสัก 30 นาที เพื่อจะรายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นมาในช่วง 6 เดือน วันนี้ผมมีรัฐมนตรีมาด้วย 2 ท่าน ท่านแรกคือ คุณจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านที่ 2 คือคุณปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
       
       ท่านผู้ชมครับ ผมคงจะขอเริ่มด้วยการเล่าให้เห็นภาพกว้างของเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อยากจะขอย้อนไปถึงปีที่แล้วหน่อย ดูตารางแรกก็จะเห็นว่าเมื่อตอนต้นปีที่แล้วนั้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกนั้น ติดลบถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์ ไตรมาสที่ 2 นั้นบวก 0.4 เปอร์เซ็นต์ ถึงไตรมาสที่ 3 บวก 0.6 เปอร์เซ็นต์ ตอนที่รัฐบาลนี้เข้ารับงานนั้น เศรษฐกิจชะลอตัวมาก พวกเราก็นั่งคิดว่าเอ๊ะจะทำยังไงจะเร่งเศรษฐกิจให้โตขึ้น เพราะถ้าขืนให้อยู่ในอัตรา 0.6 เปอร์เซ็นต์ นั้นไม่ไหวแน่นอน ก็เลยนั่งคุยกัน ก็เลยออกมาว่าเราต้องเร่งเศรษฐกิจด้วยการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณออกเป็นอันดับแรกก่อน และเร่งทำงานทุกกระทรวงให้ดี ให้เร็วที่สุดให้ได้
       
       จากการที่เราเร่งนั้น ก็เลยปรากฏว่าเราสามารถทำให้เศรษฐกิจเราขยายตัวเพิ่มจาก 0.6 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2.3 เปอร์เซ็นต์ ได้ในไตรมาสที่ 4 ถามว่าการขยายตัว 2.3 เปอร์เซ็นต์ มาจากไหน ถ้าท่านดูในตารางถัดไป ท่านก็จะเห็นได้ว่า ตัวที่เป็นพระเอกจริงๆ มี 3 ตัว คือ 1. การใช้จ่ายภาครัฐ การใช้จ่ายภาครัฐหมายถึงรายจ่ายประจำที่เบิกงบประมาณไปนั่นเอง มีการเร่งจ่ายงบประมาณใน 3 เดือนนี้มาก จนทำให้ขยายตัวสูงกว่า 3 เดือนเดียวกันของปี 56 ถึง 5.5 เปอร์เซ็นต์ ตัวนี้เป็นตัวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก 2. คือการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเรานึกว่าไม่ได้ขยายตัว แต่แท้ที่จริงการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วสูงถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในเศรษฐกิจขณะนี้ถือว่าสูงมากทีเดียว และ 3. การส่งออกบริการ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการท่องเที่ยวนั่นเอง รายได้จากการท่องเที่ยว หรือการส่งออกบริการนั้น เพิ่มถึง 11.4 เปอร์เซ็นต์
       
       สามปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เปอร์เซ็นต์ ได้
       
       คราวนี้มาดูไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ ในไตรมาสของปีนี้ ถ้าถามว่าปัจจัยอะไรที่เป็นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี ก็มี 3 ปัจจัยเช่นเดียวกัน แต่แปรเปลี่ยนไปนิดหน่อย การผลักดันใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายต่อไป แต่ไม่มากนัก แต่ตัวที่กลับมาขยายมากก็คือ การลงทุนภาครัฐ คือ โครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสร้างถนนก็ดี สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล อันนี้เริ่มมาเป็นตัวที่กระตุ้นเศรษฐกิจตัวสำคัญในไตรมาสที่ 2 คือเพิ่มขึ้นถึง 5 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนเอกชน ยังคงขยายตัวต่อไปในอัตรา 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าดีทีเดียวสำหรับโลกที่ชะลอตัวในขณะนี้ และปัจจัยที่เพิ่มมากที่สุด แม้จะฐานเล็กหน่อย ก็คือการส่งออกบริการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการท่องเที่ยวนั่นเอง รายได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์
       
       ตัวเลขของไตรมาสที่ 2 นี้ ผมได้จากตัวเลขจริงของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ และผมประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคมใส่เข้าไป เป็นการประมาณการที่ถือว่าใกล้เคียงที่สุด แม้ว่าการส่งออกจะติดลบถึง 4 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ทุกคนก็ใจหายพอสมควร เพราะว่าการส่งออกเราไม่ได้หดตัวมานาน ในปีที่แล้วก็ประมาณใกล้ๆ 0 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง เพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ ด้วยซ้ำไป แต่ปีนี้การส่งออก 2 เดือนแรกนี้ เฉลี่ยประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ นิดๆ เมื่อรวม 3 เดือนแล้วจะหดตัวถึง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากการลงทุนภาครัฐก็ดี การลงทุนเอกชนก็ดี และการส่งออกบริการก็ดีเพิ่มสูงมาก เลยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ลดลงไปได้ โดยรวมแล้วเชื่อว่าทำได้สูงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ทีเดียวครับ
       
       โดยสรุปอยากจะสรุปอีกครั้งหนึ่งนะครับว่า เศรษฐกิจของไทยนั้น ถึงแม้ว่าการส่งออกไม่ขยายตัว เพราะโลกชะลอตัวลง ไม่มีความบกพร่องของใคร โลกชะลอตัวลง ใน 2 เดือนแรก เศรษฐกิจประเทศจีนซื้อสินค้าจากเราลดลงมากเลย ลดลงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจจากยุโรปซื้อสินค้าลดลงจากเรา ญี่ปุ่นก็ซื้อสินค้าจากเราลดลง อาเซียนเองก็ลดลง คงมีอเมริกาที่เรายังเพิ่มขึ้นได้ ผมเชื่อว่าพอถึงไตรมาสถัดไป เนื่องจากจีนได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยมา 2 ครั้งแล้ว และเนื่องจากยุโรปได้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใส่เงิน ที่เขาเรียกมาตรการคิวอี ใส่เงินในระบบมา 3 เดือนติดต่อกันแล้ว เชื่อว่าทั้ง 2 เศรษฐกิจนั้นจะกลับมาซื้อสินค้าเราเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมแล้วยอดการส่งออกคงไม่น่าจะลดลงอีกต่อไป หากการส่งออกไม่ลดลงอีกต่อไป และปัจจัยอื่นๆ เช่น การลงทุนภาคเอกชนก็ดี การลงทุนภาครัฐก็ดียังขยายตัวต่อไป และการท่องเที่ยวค่อนข้างจะขยายตัวต่อไป เนื่องจากมีแรงส่งจากนักท่องเที่ยวจากยุโรป อเมริกา อันเนื่องมาจากการที่ยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว
       
       สิ่งเหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ และไตรมาส 3 ของปีนี้ น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ ถ้าการส่งออกไม่ลดลงไปอีก แต่การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐเดินต่อไป การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนเดินต่อไป และการท่องเที่ยวเดินต่อไป เศรษฐกิจเราน่าจะดีขึ้นกว่านี้แน่นอน ตรงนี้เองผมอยากให้พวกเรามาพบกับรัฐมนตรีอุตสาหกรรมนะครับ ท่านจะอธิบายให้เห็นว่า ทำไมการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเรานึกว่าซบเซานั้น โดยแท้จริงขยายตัวครับ ขอเชิญท่านรัฐมนตรีจักรมณฑ์ครับ
       
       จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช
       
       จริงๆ แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จนมาถึงเดือนมีนาคม วันที่ 31 มีนาคมปีนี้ จริงๆ แล้วมีการขยายตัวด้านภาคการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมไปมากพอสมควร ผมขอยกตัวอย่างในเรื่องของโครงการที่ไปยื่นขอ รง.4 หรือโรงงาน 4 ปรากฏว่าเรามีถึง 4 พัน ประมาณ 5 พันโครงการที่ไปยื่นขอ แล้วมีเงินลงทุนประมาณ 5.5 แสนล้านบาท จะมีคนงานประมาณ 2 แสนคน อันนี้คือตัวเลขที่มาขอ แต่ตัวเลขที่มาบอกว่า ขอเปิดโรงงานดีกว่านะครับ และมาบอกว่า จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจดูโรงงานอะไรต่างๆ เพื่อที่เขาจะประกอบกิจการ ตัวเลขนี้ซึ่งมันจะน้อยกว่าคำขอที่มาขออนุญาตเปิดโรงงาน จะปรากฏว่า มีจำนวนโรงงานประมาณ 3,500 โรงงาน ที่มาแจ้งเปิดกิจการ ในช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาฯ ปีที่แล้ว จนมาถึงเดือนมีนาฯ ปีนี้ ทั้งหมด 3,500 โรงงาน มีการลงทุน 3.5 แสนล้าน และมีการจ้างงานทั้งสิ้น 1.3 แสนคน อันนี้ผมยังไม่ได้รวมตัวเลขของการนิคมอุตสาหกรรม เพราะโครงการของการนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และระบบการขออนุญาตจะไม่เน้นเรื่องของ รง.4 เพราะว่าการนิคมฯ สามารถอนุญาตได้เลย อีกประมาณ 5 หมื่นกว่าล้าน อันนี้ยังไม่ได้รวม
       
       แต่ว่ากรณีของโรงงานนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นปริมาณขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรใหญ่ลงทุนมาก แต่ว่าจำนวนจ้างงานอาจจะน้อย และในเรื่องของจำนวนโรงงานจะสู้กับของ รง.4 คือของกรมโรงงานไม่ได้ แต่ถ้ารวมยอดนี้เข้าไปจะมียอดลงทุนทั้งหมด 4 แสนล้าน ตั้งแต่ 23 พฤษภาคมจนถึง 31 มีนาคม 4 แสนล้าน และจะมีการจ้างงานประมาณ 1.4 แสน อันนี้ยอดตัวเลขสรุปนะครับ
       
       อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่าผมยังไม่ได้รวมโครงการที่มาขออนุญาต อาชญาบัตร ประทานบัตรเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่ กรณีนี้มีคนมายื่นขอประทานบัตรไป และเราเซ็นอนุมัติไปแล้ว 195 ราย เอาแค่ช่วง 6 เดือน เพราะผมไม่ได้เอาตัวเลขสำหรับยอดไปถึงเดือนพฤษภาคม แต่ช่วงนั้นก็ไม่มีการเซ็นอยู่ดี เราอนุมัติไปที่ว่าเซ็นไปแล้ว 195 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 44,000 ล้าน และถ้าไม่นับต่อเนื่องเพราะว่าไปลงทุนแล้วมันจะเกิดแร่ที่ออกมาเราคำนวณแล้วว่า แร่ที่ออกมาจากการที่เราไปอนุมัติเหล่านี้ประมาณ 2 แสนกว่าล้าน ซึ่งก็ต่อเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อันนี้เป็นยอดลงทุนทางภาคเอกชน
       
       ก็สรุปประมาณตัวเลขคือว่าที่เกิดขึ้นจริงๆ 4 แสนล้าน ซึ่งก็เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อยากจะเรียนว่า มีอะไรนะที่เขาลงทุนกันเยอะๆ ก็บอกได้เลย อุตสาหกรรมการเกษตร เรื่องแปรรูปอาหาร มามากที่สุด รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั้งหลายจะมีมากที่สุด ต่อมาจะเป็นเรื่องของชิ้นส่วนรถยนต์ โลหะอะไรต่างๆ ซึ่งก็ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ เราก็มีอีโคคาร์
       
       ถัดมาคืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน ไม่ว่าในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า จากชีวมวลหรืออะไรต่างๆก็แล้วแต่ที่เรียกว่าพลังงานทดแทนที่กลับมาใช้ได้ ก็มีจำนวนมาก ตามมาด้วยอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ ถ้าดูในภาพรวมก็คิดว่า ทางภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งเหมืองแร่ก็เป็นตัวที่สร้างจีดีพี หรือสร้างรายได้ให้กับประชาชนพอสมควรทั้งดูในด้านจ้างงาน อีกส่วนหนึ่งที่อยากจะเรียน ว่าเป็นข้อมูลที่เราได้รับมาก็คือ ด้านของยอดส่งออกรถยนต์ ในเดือนมกราคา และเดือนกุมภาพันธ์เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และยอดรวมผลิตรถยนต์เอาเฉพาะเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ที่บอกว่าดูไม่ค่อยดี แต่ยอดรวมผลิต 3 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่ามากกว่าช่วงเดียวกัน แต่เนื่องจากยอดส่งออกมันสูง แต่ยอดการซื้อในประเทศอาจจะต่อแต่ยอดรวมถือว่าดี และมีตัวเลขอีกหลายตัวในภาคอุตสาหกรรมก็คือเช่น การนำวัตถุดิบเข้ามาเดือนกุมภาพันธ์เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็เป็นเครื่องชี้ว่า มันจะมีการผลิตเกิดขึ้นในช่วงถัดไป เราสังเกตว่าในแง่ของภาคการผลิต ตัวเลขทุกอย่างมันกระเตื้องขึ้นโดยเห็นชัดเจน เป็นการใช้ตัวเลขที่ของจริง การนำเข้าวัตถุดิบก็ของจริง แจ้งประกอบการ เริ่มประกอบการก็เป็นตัวเลขที่จริง ผมมีเรื่องที่จะเรียนเพียงแค่นี้ครับ
       
       ปรีดิยาธร - ท่านรัฐมนตรีครับ ท่านออกใบอนุญาตไปแล้วประมาณ 5,000 ราย แล้วเขาก็มาแจ้งเพื่อเปิดโรงงานประมาณ 3,500 ราย ผมสงสัยว่า พวกนี้ทำไมถึงอนุมัติมากในช่วง 8- 9 เดือนที่ผ่านมา ทำไมเดิมไปค้างอยู่ที่ไหน เล่าให้ฟังได้ไหม
       
       จักรมณฑ์ - อันนี้ปัญหาอันหนึ่งก็คือว่า มีกระบวนการอนุมัติโครงการ ในช่วงก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาพอสมควร หลังจากที่ คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมือง รวมทั้งเป็นรัฐบาลที่มาจนถึงปัจจุบันก็ได้พยายามแก้ไขว่า เรื่องของการที่จะวิ่งไปขออนุญาตไม่ใช่เฉพาะเรื่อง รง.4 รวมทั้งเหมืองแร่ เรากำหนดเวลาชัดเจน ว่าเมื่อไหร่ อย่างกรณีของโรงงานเรากำหนดภายใน 30 วัน เหมืองแร่ไม่เกิน 45 วัน เราขอใบอนุญาตของ สมอ.ไม่เกิน 23 วัน อันนี้เรากำหนดชัดเจน สำหรับผู้ที่มายื่นขอไปเช็กออนไลน์ได้เลยว่า โครงการขณะนี้ อย่างภายใน 30 วัน อยู่ที่โต๊ะไหน จุดไหน ซึ่งก็ทำให้เกิดความสบายใจ เหมือนกับว่าก็เลยมีการอนุมัติเยอะในช่วงนี้ ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องล่าช้า อะไรต่างๆ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมหลังจาก 22 พฤษภาคม แล้ว โครงการที่มาอนุมัติ อยู่ในล็อตที่ค่อนข้างสูง
       
       ปรีดิยาธร - อย่างที่บอกว่าใบอนุญาตประกอบโรงงาน ออกใน 30 วัน หรืออันที่เรียกว่าประทานบัตรสำรวจแร่ ใน 45 วัน อันนี้ออกเป็นระเบียบ หรือกฎหมาย หรือกฎกระทรวงหรือเปล่า
       
       จักรมณฑ์ - อันนี้เราออกเป็นระเบียบของกระทรวง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นกฎหมายซึ่งออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 22 มกราคม เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการอนุญาตต่างๆ ทางราชการ ซึ่งนั่นเราก็จะใช้เป็นแม่แบบด้วย แต่ถึงตัวกฎหมายแม่ซึ่งออกมาแล้ว เรากำหนดใช้ก่อนที่ตัว พ.ร.บ.เรื่องอำนวยความสะดวก ในเรื่องการอนุญาตประชาชนออก เพราะฉะนั้นผมคิดว่านี่ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง เพราะว่าในเรื่องของการลงทุน เรื่องของการอนุญาตคำขอต่างๆ เมื่อมันมีความสะดวกแล้ว คนก็มีความรู้สึกว่าอยากที่จะไปขอ อยากที่จะไปติดต่อ อยากที่จะไปลงทุนบ้าง ถ้าตรงนั้นติดขัดแล้ว ผมก็คิดว่ามันก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยอยากที่จะเริ่มลงทุนอะไรนัก
       
       ปรีดิยาธร - ขอบคุณมากครับ ท่านรัฐมนตรี ท่านผู้ชมครับ ฟังดูก็เหมือนกับทุกอย่างมันราบเรียบ ที่ยังมีปัญหาก็คงจะเป็นเรื่องของส่งออกซึ่งหดตัว ซึ่งผมเชื่อว่าหลังจากเมษายนไป น่าจะดีขึ้น ตอนนี้ในภาพที่ว่าทั้งหมด เราก็มีจุดอ่อนของเศรษฐกิจเหมือนกัน ทุกคนทราบดีว่า ในสินค้าเกษตร มีอยู่ 2 ตัว คือ ข้าว และยาง ซึ่งราคาใน 6 เดือนที่ผ่านมา ต่ำกว่าเมื่อปีก่อนนั้นมากพอควรทีเดียว
       
       ในขณะที่ภาคเกษตร โดยเฉพาะเรื่องข้าวและยาง มีรายได้ต่ำกว่าคนอื่น ผมอยากจะเรียนถามท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ ว่าท่านได้มีการกระทำที่เข้าไปช่วยชาวนาที่ปลูกข้าว หรือชาวสวนยางยังไงบ้าง เพื่อให้เขา อย่างน้อยเขามีอะไรที่ประทังไปให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้
       
       ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา
       
       ก็อยากที่ท่านรองนายกฯ ได้กล่าว ตอนที่พวกเราเข้ามาทำงานเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ปัญหาหลักมันอยู่ที่ราคาสินค้าเกษตร อันแรกก็คือข้าว ข้าวนี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งเราทำปัญหาเอง เพราะว่าเรามีสต๊อกประมาณ 18 ล้านตัน แล้วสต๊อกที่เกิดขึ้น เกิดจากการประกันราคาข้าว ซึ่งเวลาตลาดโลกมันปรับตัวของมันเอง ราคาข้าวจริงๆ แล้วก็ทำให้รู้สึกว่ามันต่ำกว่าราคาที่ประกันไว้พอสมควร ส่วนยางเป็นเรื่องของการปรับตัวของน้ำมันอย่างที่จริง เพราะว่าการที่น้ำมันลดลงก็ทำให้ราคาของยางปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากด้วย
       
       ทีนี้ ในแง่ของมาตรการ เราก็ได้ใช้มาตรการหลายอย่างที่จะเข้าไปเสริมในแง่ของรายได้ของผู้ที่ผลิตข้าวและผู้ผลิตยาง ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เป็นส่วนใหญ่ ข้าวนี่ก็ทั่วประเทศ ยางส่วนใหญ่ก็ทางใต้ แต่ตอนหลังๆ ก็ขยายไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้าง ทางเหนือบ้าง
       
       มาตรการแรกที่เราเข้าไปดำเนินการที่เกี่ยวกับข้าวโดยตรง ก็คือเรื่องของการเข้าไปช่วยเหลือรายได้ของเกษตรกรโดยตรง นี่ไม่ใช่เรื่องของการประกันราคานะ เป็นเรื่องการเข้าไปช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่พอจะอยู่ได้ โดยให้ครัวเรือนละประมาณ 1,000 บาท
       
       ปรีดิยาธร - ไร่ละ 1,000
       
       ปีติพงศ์ - ไร่ละ 1,000 บาท แต่เราไปคิดว่าในแต่ละครัวเรือนมีการถือครองอยู่ในระดับเท่าใด ซึ่งอันนี้ก็ได้ดำเนินการมาถึงเดือนมีนาคม และจ่ายเงินไป 38,000 ล้านบาท จ่ายให้กับครัวเรือนประมาณ 3.5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะจบไปแล้ว เพราะว่าส่วนที่เหลือก็มีปัญหาในเรื่องของการถือครองที่ดินบ้าง เรื่องหลักฐานต่างๆ บ้าง ซึ่งจากการสำรวจก็ปรากฏว่าเกษตรกรจำนวนมากก็พึงพอใจ แต่ส่วนหนึ่งก็เห็นว่าควรจะจ่ายเพิ่มอีก ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ในการดำเนินการเราก็ต้องดูว่า ในที่สุดแล้วภาระของรัฐบาลมีมาก/น้อยแค่ไหน และเกษตรกรจะอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือขนาดไหน
       
       นอกจากนั้นแล้วก็มีมาตรการทางอ้อมอื่นๆ อีก เช่น ทางด้านของการจ้างงาน ก็มีการจ้างแรงงานถึง 38,000 ราย เพื่อที่จะปรับปรุงระบบการชลประทาน ที่จะนำน้ำไปสู่พื้นที่ของเกษตรกร มีการฝึกอบรม ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร และมีการสนับสนุนให้มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งไม่ใช้น้ำมาก ประมาณ 142,000 ไร่ ทั้งหมดนี้ก็เป็นมาตรการที่พยายามที่จะช่วยเหลือชาวนาในเรื่องของราคาพืชผลที่ตกต่ำ แต่อีกส่วนหนึ่งผลมันเกิดมาจากเรื่องของความแห้งแล้งในปีที่แล้ว ก็มีมากเนื่องจากน้ำส่วนหนึ่งนำมาใช้ล่วงหน้าน้ำที่เหลือจะนำมาใช้ในเรื่องการเกษตรทั้งหมดในฤดูแล้งก็ไม่เพียงพอ
       
       มาตรการหลักมาตรการหนึ่งซึ่งเราเห็นว่า เป็นมาตรการซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วคนให้ความสนใจมาก คือมาตรการที่จะช่วยเหลือบริเวณที่มีภัยแล้งซ้ำซาก โดยใช้เงินเข้าไปในตำบลต่างๆ 3,000 กับ 51 ตำบล เพื่อให้เกษตรกรได้คิดอ่านที่จะดำเนินอาชีพของตนเอง ทั้งในส่วนที่เป็นเรื่องของการปรับปรุงพื้นที่ การปรับปรุงอาชีพ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ก็ปรากฏว่า ขณะนี้ได้จ่ายเงินไปแล้ว 6,590 กว่าโครงการ ก็ 3,000 กว่าล้านบาท จะหมดแล้ว มีอยู่ 1 ตำบล หรือ 2 ตำบล ที่ไม่เอา เนื่องจากเขาบอกว่า ไม่แล้ง หรือว่าเขาไม่มีความปรารถนาที่จะลงทุนอีกต่อไป อันนั้นก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อมาดูแล้วสถิติบอกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ ของตำบลเหล่านี้ต้องการที่จะเอาเงินเหล่านี้ไปทำเรื่องพัฒนาแหล่งน้ำของตัวเอง ซึ่งก็หมายความว่า คนจะใช้แรงงานเพือ่อให้ได้น้ำมา เพื่อไปเพาะปลูกในปีต่อไป
       
       นอกจากนั้น ก็มีเรื่องของผลิตทางการเกษตร การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆเพื่อการผลิต พวกลานตาก ยุ้งฉางต่างๆ เหล่านี้ 41 เปอร์เซ็นต์ และมีการจัดการเพื่อลดการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร คือการเก็บให้ดีประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเรื่องแหล่งน้ำหมดเลย 51 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ก็มีความชัดเจนว่า บางกิจกรรมจะมีผลเฉพาะในเรื่องของการได้รายได้โดยตรง เช่น การจ้างงาน แต่บางกิจกรรมจะมีผลต่อเนื่อง เช่น แหล่งน้ำ ก็ทำให้มีน้ำ เช่นปรับปรุงพื้นที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆก็จะทำให้เก็บรักษาพืชผลการผลิตได้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
       
       ในส่วนที่ 2 คือเรื่องของยางพารา ก็มีปัญหาในเรื่องราคาเช่นกัน แต่ยางพารามีปัญหาทางด้านโครงสร้างเยอะกว่า เพราะว่ายางพาราไม่ใช่อาหารสัตว์ แต่เป็นสิ่งซึ่งเอาไปประกอบเป็นอุตสาหกรรม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ฉะนั้นเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี และถูกซ้ำเติมด้วยราคาน้ำมัน หรือว่าการใช้ยางพาราเป็นปัญหาค่อนข้างจะมาก
       
       อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะสั้นเราพยายามที่จะอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางไร่ละพันบาทเช่นเดียวกัน และจ่ายไปแล้ว 7.6 แสนครัวเรือน เป็นเงิน 7 พันกว่าล้านบาท ซึ่งอันนี้ใกล้จะยุติแล้ว เหลือตกค้างเช่นเดียวกับข้าวนิดหน่อย
       
       นอกจากนั้น พยายามที่จะให้สหกรณ์ได้มีบทบาทที่จะช่วยเหลือราคายางด้วย ด้วยการที่จะให้เงินกู้หมุนเวียน เพื่อซื้อยางแก่สถาบันเกษตรกรวงเงินหมื่นล้านบาท เบิกไปแล้ว 3 พันกว่าล้านบาท อันนี้เกษตรกรไปรวบรวมยางพารา ปรับปรุงบ้าง หรือว่าเอาไปขายต่อบ้างอย่างนี้เป็นต้น สินเชื่อที่สำคัญมากที่สุดในขณะนี้ เป็นสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างระยะยาวคือ เราได้ขอสินเชื่อในวงเงินหมื่นล้าน รายละไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อที่จะให้เกษตรกรได้ปรับโครงสร้างการผลิตของตัวเอง เป็นการเกษตรแบบผสมผสาน เพราะว่ายางพาราจะเห็นได้ว่า ขึ้นสูงมากก็ลงต่ำมากได้เหมือนกัน ในช่วงนั้นเกษตรกรจะสร้างความมั่นคงให้กับรายได้อย่างไร เป็นเรื่องที่เราได้เปิดกว้างมาก และเกษตรกรได้ยื่นขอกู้ถึง 1.1 แสนราย แต่ว่าขณะนี้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินกู้ไปแล้วจำนวนหนึ่ง เพราะว่าต้องดูตามระเบียบการของ ธ.ก.ส. ซึ่งอันนี้ท่านรองนายกฯ ก็คงกำลังพิจารณาให้ดูว่า จะทำให้รวดเร็วมากขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่
       
       ทั้งหมดเป็นเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งนั้น ในช่วงระยะเวลาต่อไป เราคงจะต้องมีการปรับโครงสร้างในการพัฒนาการเกษตรให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ เพื่อทำให้ความมั่นคงในแง่ของรายได้ของเกษตรกรมีมากขึ้น เท่าที่เราสำรวจถามว่า โครงการทั้งหมดยังมีผลไหม เท่าที่เราสำรวจในช่วงระยะเวลาเดียวกันตั้งแต่วันที่ 1-7 มีนาคมเทียบกับปีที่แล้ว รายได้สุทธิของเกษตรกรลดลงไปประมาณ 600 บาทต่อครัวเรือน ถ้าเกิดโครงการ 3 พันกว่าล้านที่ช่วยพื้นที่ภัยแล้งมีประสิทธิภาพ และเอาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมเชื่อว่าส่วนต่างตรงนี้มันอาจจะลดลงไป และตอนนี้ใกล้จะถึงฤดูกาลเพาะปลูกใหม่แล้ว โครงการต่างๆ จะทำให้รายได้ของเกษตรกรน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับ
       
       ผมลืมเรียนไปเรื่องหนึ่งคือ เรื่องประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุ้งเคยส่งออก 5 แสนตันต่อปี เดิมลดลงเหลือประมาณแสนตัน เนื่องจากเป็นโรคอีเอ็มเอส โรคตายด่วน ขณะนี้ปรับขึ้นไปได้เกือบ 3 แสนตันต่อปี ก็เป็นส่วนที่อาจจะช่วยได้ในฤดูกาลต่อไป
       
       ปรีดิยาธร - แล้วโรคตายด่วนนี้ท่านแก้อย่างไรถึงปรับขึ้นมาได้
       
       ปีติพงศ์ - โรคตายด่วนมันมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม อีกด้านคือเรื่องแม่พันธุ์ แม่พันธุ์ต้องใช้เวลานิดหน่อย ขณะนี้ที่แก้คือเรื่องสิ่งแวดล้อม คือการที่ไปตรวจสอบดูว่า แม่พันธุ์ป่วยตั้งแต่แม่หรือเปล่า ในบ่อๆ หนึ่งควรจะใช้เลี้ยงกุ้งซักเท่าไร แล้วก็การใช้พวกผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในการแก้ปัญหา ก็ร่วมผสมผสานกัน 2-3 อย่าง แก้ไปได้ในระดับหนึ่ง
       
       ปรีดิยาธร - ขณะนี้กำลังทำเพิ่มเติม
       
       ปีติพงศ์ - ครับ
       
       ปรีดิยาธร - สำหรับสินเชื่อยาง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างระยะยาว ปรับปรุงสวน เป็นสินเชื่อระยะยาวนั้น ชาวสวนยางขอมาประมาณแสนกว่าราย ขณะนี้ ธ.ก.ส.อนุมัติจ่ายเงินไปแล้ว 2.7 หมื่นราย ผมได้เร่ง ธ.ก.ส.ไปแล้วให้เร่งทำมากขึ้น เพราะอันนี้เป็นสินเชื่อที่ดี เพราะว่าเป็นสินเชื่อที่เขาจะเอายางเก่าที่ส่วนเกินออก แล้วหันไปปลูกอย่างอื่น หรือทำอาชีพอื่นซึ่งจะทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างอุปทานอุปสงค์ของยางได้ดีขึ้น อันนี้จะเร่งต่อไปให้ครับ
       
       ท่านผู้ชมครับ วันนี้เรามีเวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น เลยมาเล่าสู่กันฟังว่า ทางอุตสาหกรรมก็ดี ทางเกษตรก็ดีทำอะไรไปบ้าง และภาพเศรษฐกิจโดยรวมนั้น ถึงแม้ว่ายอดการส่งออกจะติดลบใน 2 เดือนแรก หรือ 3 เดือนแรกก็ตาม แต่เราเชื่อว่าเศรษฐกิจเรายังแข็งแรงพอควร แม้การส่งออกจะติดลบถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ใน 3 เดือน การเพิ่มขึ้นของปัจจัยอื่นได้มีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจของเราใน 3 เดือนแรกนี้ น่าจะขยายตัวได้ 3 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ผมเชื่อว่าในไตรมาสถัดไป เมื่อการส่งออกกลับมาปกติแล้ว ปัจจัยอื่นๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจเรากลับมาขยายตัวดีขึ้น ผมขอลาแต่เพียงเท่านี้ครับ สวัสดีครับ